แมมโมแกรม (MAMMOGRAM)  

  แมมโมแกรมคืออะไร
      แมมโมแกรม คือการตรวจเต้านมโดยใช้รังสีเอ็กซ์ ในขณะตรวจเต้านมจะถูกกดโดยเครื่องให้แน่นเพื่อที่จะได้เห็นความผิดปกติอย่างชัดเจน

  ประโยชน์ของแมมโมแกรม
     แมมโมแกรมมีความสามารถสูงในการตรวจหามะเร็งเต้านมที่ยังมีขนาดเล็กและไม่มีอาการ ทำให้ผลการรักษาดีผู้ป่วยมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้นและนานขึ้น การตรวจแมมโมแกรมในคนปกติที่ไม่มีอาการ เพื่อหามะเร็งระยะเริ่มต้นแบบนี้
เรียกว่า " SCREENING MAMMOGRAM "

 

     นอกจากนี้แมมโมแกรมยังมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค (diagnosic mammogram) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแล้ว เช่น คลำได้ก้อน

     ในบทความนี้จะกล่าวถึงการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้นเป็นหลัก

  ข้อด้อยของแมมโมแกรม

  1. เจ็บ ระหว่างการตรวจเต้านมจะถูกบีบให้แน่น จึงทำให้รู้สึกเจ็บบ้าง แต่จะพอทนได้
  2. ค่าใช้จ่าย การทำแมมโมแกรมเพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้นจะมีประสิทธิผลสูงสุดก็ต่อเมื่อต้องทำเป็นประจำทุก 1 ปี ด้วยเหตุนี้อาจทำให้มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายได้ ค่าตรวจแมมโมแกรมแต่ละครั้งประมาณ 800-2000 บาท แล้วแต่ละโรงพยาบาล เพราะว่าแมมโมแกรมมีความไวสูงในการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้น แต่มีความเฉพาะเจาะจงไม่สูงมาก หมายความว่าเมื่อรังสีแพทย์เห็นความผิดปกติในแมมโมแกรม อาจมีบางครั้งที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณนั้นออกมาดู (ตัดเฉพาะความผิดปกติออก ไม่ใช่ตัดทั้งเต้านม)

     หมายเหตุ : ปริมาณรังสีเอ็กซ์ที่ใช้ในการตรวจจะมีปริมาณน้อยมาก ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดมะเร็งแต่อย่างใด

  ข้อห้ามในการตรวจแมมโมแกรม

  • ในระหว่างตั้งครรภ์ ควรหลีกเหลี่ยงการตรวจ Screening Mammogram
  • จริง ๆ แล้วในคนท้องถ้าจำเป็นจริง ๆ เช่น คลำได้ก้อน ก็สามารถทำแมมโมแกรมได้ โดยเจ้าหน้าที่จะเอาแผ่นตะกั่วกันรังสีมาคลุมท้องไว้ขณะตรวจ

  หมายเหตุ : หญิงกำลังมีประจำเดือนก็สามารถทำการตรวจได้
                       หญิงที่เสริมเต้านมก็ทำการตรวจได้ เพียงแต่ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนทำการตรวจ

  จะเริ่มตรวจแมมโมแกรมเพื่อหามะเร็งระยะเริ่มต้นเมื่อไรดี

     ในอเมริกายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 40 ปีหรือ 50 ปีดี สำหรับประเทศไทยก็ยังไม่มีงานวิจัยหรือคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศออกมาใช้ ส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าการพิจารณาว่าหญิงไทยควรจะเริ่มตรวจเมื่ออายุเท่าไร ควรเป็นการพิจารณาร่วมของเจ้าตัวและแพทย์เจ้าของไข้ โดยคำนึงถึงปัจจัยทางคลินิก ( เช่น มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัวหรือไม่ , กินฮอร์โมนหรือไม่ ) และการชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อด้อยของแมมโมแกรมอย่างที่กล่าวมาแล้ว

  ความถี่ในการตรวจ

      ในต่างประเทศ ส่วนมากจะแนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก 1 ปี

  ข้อควรทราบอื่นๆ สำหรับการตรวจแมมโมแกรม

  1. ถึงแม้แมมโมแกรมจะมีความสามารถสูงในการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น แต่ก็ไม่ 100% เพราะฉะนั้นการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้นต้องประกอบด้วย
    • คลำเต้านมตัวเองเดือนละ 1 ครั้ง ( Breast Self Examination - BSE )
    • ให้แพทย์ตรวจเต้านมปีละ 1 ครั้ง ( Clinical Breast Examination - CBE )
    • สำหรับคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ให้ทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้งด้วย

  2. ในบางสถาบัน คนที่ทำแมมโมแกรมจะได้รับการตรวจด้วยคลื่นเสียง (Ultrasound) ด้วยทุกราย แต่ในบางสถาบัน เช่น รพ. พระมงกุฎเกล้า จะทำ ultrasound เฉพาะในบางรายเท่านั้น เช่น ในรายที่สงสัยก้อน Ultrasound อย่างเดียวไม่สามารถทดแทนแมมโมแกรมในการตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นได้

  3. ความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ จากแมมโมแกรมพบได้บ่อย ไม่ต้องตกใจ รังสีแพทย์อาจถ่ายฟิล์มท่าต่าง ๆ เพิ่มเติมหรือนัดให้ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด ( เช่น ทุก 6 เดือน ) สักระยะหนึ่ง

  4. ควรนัดมาตรวจแมมโมแกรมในช่วงที่ไม่คัดเต้านม เพราะจะทำให้เจ็บน้อยลงขณะตรวจ หรืออาจจะไม่เจ็บเลยก็ได้

  5. วันมาตรวจ ควรสวมชุดครึ่งท่อนเพื่อความสะดวกในการตรวจ

  6. วันมาตรวจต้องไม่ทาครีม , แป้ง , น้ำหอม หรือน้ำยาดับกลิ่นตัวบริเวณเต้านมและรักแร้ทั้งสองข้าง เพราะอาจทำให้ดูเหมือนมีความผิดปกติ ( หินปูน ) ในภาพแมมโมแกรมได้

 



การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (BSE)

  • สมาคมมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ( THE AMERICAN CANCER SOCIETY ) แนะนำว่าผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคนต้องคลำเต้านมตัวเองเดือนละครั้ง ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ควรคลำหลังจากหมดประจำเดือน 1-7 วัน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงที่เต้านมคัดตึงซึ่งอาจจะทำให้คลำยาก และคลำคล้ายมีก้อนได้ ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วควรคลำในวันเดียวของทุกเดือน เช่น ทุกวันที่ 25 เป็นต้น
  • วิธีตรวจเต้านมตัวเองทำได้ ดังนี้

 

ขั้นที่1 ถอดเสื้อแล้วยืนตรงแขนชิดลำตัวหน้ากระจก มองดูเต้านมโดยเปรียบเทียบทั้ง 2 ข้าง มองหาว่ามีความ
การมอง แตกต่างกันระหว่างนม 2 ข้างหรือไม่ เช่น มีก้อน , มีสีผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป หรือมีรอยดึงรั้งไหม เสร็จแล้วให้มองหาในทำนองเดียวกัน แต่เปลี่ยนท่ายืนเป็นยืนท้าวสะเอวและยกแขน 2 ข้างไว้บนศีรษะ
   
ขั้นที่2 ให้นอนหงาย ยกแขนข้างเดียวกับนมที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะโดยงอข้อศอกด้วย เอาหมอนแบน ๆ หรือ
การคลำ ผ้าเช็ดตัวรองใต้ไหล่ข้างเดียวกันกับนมข้างที่จะตรวจ แล้วใช้มือด้านตรงข้ามคลำ การคลำให้ใช้ อุ้งนิ้ว 3 นิ้ว ( นิ้วชี้ , นิ้วกลาง , นิ้วนาง ) ไม่ใช้ปลายนิ้ว กดลงไปและในขณะเดียวกันก็คลึง คือวนเป็น ก้นหอยด้วย ตอนแรกลงน้ำหนักเบา ๆ ก่อนแล้วจึงค่อยกดแรงขึ้น และทำอย่างนี้ไปจนกระทั่ง ทั่วเต้านม
    • หลังจากคลำเต้านมเสร็จแล้วให้บีบหัวนมเบา ๆ ดูว่ามีอะไรไหลออกมาหรือไม่และคลำรักแร้ด้วย
    • เมื่อทำเสร็จข้างหนึ่งแล้ว ก็ทำอย่างเดียวกันกับด้านตรงข้าม
    • การคลำอาจทำในท่ายืนตอนอาบน้ำก็ได้ ก็ใช้เทคนิคเดียวกันกับในท่านอน

  • เต้านมคนปกติอาจไม่เรียบได้ อาจตะปุ่มตะป่ำเล็กน้อยหรือหนาขึ้นเป็นทางบาง ๆ ได้ ถ้าคลำเต้านมตัวเองทุกเดือนก็จะทราบว่าโตขึ้นหรือไม่ ถ้าโตขึ้นแสดงว่าผิดปกติค่อยมาพบแพทย์

  • ถ้าคลำเต้านมตัวเองแล้วพบความผิดปกติต่อไปนี้ให้รีบมาพบแพทย์
    • พบก้อน
    • หัวนมถูกดึงรั้งผิดปกติ
    • มีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลจากหัวนม
    • ผิวหนังบริเวณเต้านมมีรอยบุ๋ม
    • ขนาดและรูปร่างของนมทั้ง 2 ข้างต่างกันอย่างผิดปกติ

  • ขอย้ำว่าการตรวจเต้านมตัวเองต้องทำทุกเดือน และต้องคลำให้ทั่วนม

ดูภาพประกอบการตรวจเต้านมได้ที่ http://www.waithong.com/consumer/bse/bse.html

 

การบริการการตรวจแมมโมแกรมใน รพ. พระมงกุฎเกล้า

  • กองรังสีกรรม รพ. พระมงกุฎเกล้า เปิดให้บริการการตรวจแมมโมแกรมที่ชั้น 2
    อาคารสมเด็จย่า ทุกบ่าย ( 13.00-16.00 น. ) ของวันทำการราชการ
    และเช้าวันพฤหัสบดี - ศุกร์ ( 8.30-12. น. ) โดยต้องมีการนัดล่วงหน้า
  • ใช้เวลาในการตรวจ 1 ชั่วโมง
  • ค่าใช้จ่าย 800 บาท

พ.ท.หญิง กมลวรรณ จึงมีโชค
รังสีแพทย์ กองรังสีกรรม รพ. รร.6

 

อ่านย้อนหลัง | อ่านเรื่องถัดไป