โรคข้อเข่าเสื่อม   


     ข้อเข่าของคนเรานี่ก็เป็นอวัยวะที่ทำงานหนักเอาการ… เพราะนับตั้งแต่ที่เราเป็นเด็กน้อยเริ่มหัดคลาน ข้อเข่าก็เริ่มทำหน้าที่รับน้ำหนักของเรามาเรื่อย ๆ จึงไม่น่าแปลกที่คนเรา เมื่อถึงเวลาอันควรข้อเข่าก็ย่อมจะต้องเสื่อมทรุดไปตามธรรมชาติ นี่เป็นเรื่องราวที่จะเล่าให้ท่านฟังในวันนี้ครับ

     โรค "ข้อเสื่อม" นี่เชื่อว่าทุกท่านก็คงจะคุ้นเคยคุ้นหูกันบ้างนะครับ ชื่อโรคมีคำว่า เสื่อม ๆ ถอย ๆ นี้ฟังแล้วก็ชวนให้หดหู่พอใช้ ฝรั่งเขาก็เรียกว่า "Osteoasthritis" ครับผม อันที่จริงข้อเกือบทุกข้อในร่างกายมนุษย์ก็มีสิทธิ์จะเสื่อมกันได้ทั้งนั้น… เพียงแต่ข้อเข่านี่จะพบบ่อยกว่า สันนิษฐานว่าเป็นเพราะต้องรับน้ำหนักมากนั่นเอง ส่วนสาเหตุที่แท้จริงก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดนัก คุณหมอหลาย ๆ ท่านก็กำลังศึกษากันอยู่

     อาการเริ่มแรกของโรคนี้ก็คือ คุณลุง , คุณป้าจะเริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดหัวเข่าเวลานั่งนาน ๆ แล้วจะลุกขึ้นยืน , นั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิก็ปวด ต้องพยายามเหยียดขา ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการเจ็บเข่าเวลาเดินหรือขึ้น-ลงบันได และวันดีคืนดีข้อเข่าก็อาจจะมีอาการอักเสบขึ้นมาได้เป็นครั้งคราว

     ฟัง ๆ ดูก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไร…เพียงแต่ก่อความรำคาญ เดินเหินไม่ค่อยถนัด ครั้นจะไม่เดินเลยก็คงจะไม่ดีอีก เพราะกล้ามเนื้อเมื่อไม่ได้ใช้งานก็จะฝ่อลีบลงเรื่อย ๆ ถ้างั้นจะทำอย่างไรดีล่ะ ? ถ้าท่านได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม!

     เนื่องจากเป็นโรคของความเสื่อมถอย ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่จะทำให้ข้อเข่ากลับไปมีสภาพดังเช่นในวัยหนุ่มสาวได้… แต่มีวิธีปฏิบัติที่จะ "ถนอมข้อเข่า" ของท่านให้เสื่อมลงช้าที่สุดซึ่งฝรั่งเขาเรียก "Joint Protection Program" ดังต่อไปนี้ครับ

1. หลีกเลี่ยงการพับเข่า (งอเข่ามาก ๆ)

     ค่อนข้างจะเป็นโชคร้ายสำหรับคนไทย ซึ่งมีกิจวัตรประจำวันที่ต้องนั่งกับพื้นอยู่มาก เช่น ในการไหว้พระ เรามักจะนั่งพับเพียบ คุกเข่าหรือขัดสมาธิ ซึ่งจะต้องพับเข่า… บางท่านนิยมนั่งทานข้าวกับพื้น หรือใช้ห้องน้ำที่เป็นส้วมแบบนั่งยอง ๆ บางท่านต้องซักผ้า ซึ่งถ้าเป็นแบบไทย ๆ เราก็คงหนีไม่พ้นซักในกาละมัง ซึ่งจะต้องนั่งพับเข่าอีกนั่นแหละครับ ในส่วนนี้เราต้องผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เช่น เวลานั่งกับพื้น ถ้าไม่ได้กำลังไหว้พระ ก็ให้นั่งเหยียดขาให้เข่าตรงหรืองอน้อย ๆ ก็ยังพอได้ (ที่จริงอยากแนะนำให้นั่งเก้าอี้จะดีที่สุด) ห้องน้ำของท่านถ้าเป็นส้วมแบบนั่งยอง ๆ ท่านอาจจะนั่งราบไปเลยหรือใช้เก้าอี้ที่เจาะรูตรงที่นั่ง ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านเวชภัณฑ์ทั่วไปครับ


2. หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินนาน ๆ

     ลองนึก ๆ ดูว่าในวันหนึ่ง ๆ ท่านมีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะต้องยืนหรือเดินนาน ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ทำกับข้าว , รีดผ้า ลองคิดหาวิธีที่ท่านจะได้นั่งทำงาน หรืออย่างน้อยนั่งสลับยืนก็ยังดี เช่น ท่านอาจจะนั่งหั่นผัก หั่นหมู แล้วค่อยไปยืนผัดหน้าเตาแทนที่จะยืนยาวตลอด เวลารีดผ้า ก็ลองหาเก้าอี้สูงมานั่งน่าจะดีกว่าครับ


3. หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงบันได

     ไม่ได้ห้ามขึ้น-ลงบันไดนะครับ แต่เราขึ้น-ลงเท่าที่จำเป็น ถ้าไปเดินห้าง ก็พยายามใช้ลิฟท์หรือบันไดเลื่อนจะดีกว่าครับผม


4. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

     การยกของหนัก จะทำให้เข่าของท่านต้องรับน้ำหนักมากขึ้น ดังนั้น ถ้าจะไปซื้อของหรือจ่ายตลาด เราใช้รถเข็นหรือรถลากจะดีกว่าหิ้วตะกร้านะครับ


5. ลดน้ำหนัก

     ลดน้ำหนักนี่สำคัญมากครับ โดยเฉพาะท่านที่น้ำหนักเกินพิกัด ถ้าลดน้ำหนักลงได้จะรู้สึกสบายเข่าขึ้นมากเชียวครับ ศิลปะการลดน้ำหนักนี้มีรายละเอียดค่อนข้างจะมาก


6. บริหารข้อเข่า

     โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นจริงอยู่เราไม่มีทางรักษา ให้กลับไปดีเลิศเหมือนครั้งหนุ่มสาวได้ แต่เราฟื้นฟูได้ครับ การฟื้นฟูนั้นทำได้ง่าย ๆ และไม่เสียสตางค์ เพียงแต่ท่านจะต้องปฏิบัติตนเอง (ต้องขยันนิดนึง) ลองอ่านดู นะครับ

บริหารกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps muscles)

ท่าที่หนึ่ง ใช้ในระยะที่ข้อเข่ากำลังอักเสบอยู่ จากนั้นเกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาพร้อม ๆ กับใช้มือสัมผัสที่หน้าขา (ที่หน้าขาของท่านเองนะครับ) ให้กล้ามเนื้อเกร็งแข็งที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้ เกร็งค้างไว้ประมาณ 6 วินาทีแล้วจึงคลาย ทำซ้ำ 20-30 ครั้ง นับเป็น 1 รอบ ในหนึ่งวันถ้าทำได้หลาย ๆ รอบจะดีมากครับ
ท่าที่สอง เรียกว่า short-arch isotonic quadriceps exercise ครับ ใช้ในระยะที่เข่าไม่อักเสบแล้วเริ่มจากท่างอเข่าเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ เตะขาขึ้นช้า ๆ จนเข่าเหยียดสุด เกร็งค้างไว้ 6 วินาที ถ้าจะให้ได้แรงมากขึ้นอาจใช้หนังสติ๊กร้อยให้เป็นเส้นยาวประมาณ 1/2 ฟุต นำมาคล้องที่ข้อเท้าแล้วจึงค่อย ๆ เตะขาขึ้น ทำซ้ำประมาณ 20-30 ครั้ง หรือเท่าที่จะทำไหว ในหนึ่งวันทำหลาย ๆ รอบได้ครับ


     ท่าบริหารทั้งสองท่านี้ถ้าทำให้เป็นนิสัยจะเยี่ยมมากครับ จะนั่งดูทีวีหรืออ่านหนังสือก็ทำไปด้วยพอเพลิน ๆ เมื่อกล้าม-เนื้อหน้าขาของท่านแข็งแรงขึ้นท่านจะปวดเข่าน้อยลง และจะรู้สึกว่าเดินเหินคล่องตัวขึ้น ไปเที่ยวไหน ๆ ก็เที่ยวได้อย่างสนุก

     นอกจากท่าบริหารที่กล่าวมา คุณลุงคุณป้าอาจจะมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชื่นชอบจะเป็นการออกกำลังหรือกิจกรรมเข้าสังคมใด ๆ ก็ตาม อย่าลืมถนอมข้อเข่าไว้ใช้นาน ๆ นะครับ

     จริง ๆ แล้วผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อม ถ้าเป็นไปได้ควรจะเลือกออกกำลังในน้ำ เพราะข้อเข่าจะไม่ต้องรับน้ำหนักมาก แต่บ้านเราการไปว่ายน้ำบางทีอาจจะลำบาก ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นขี่จักรยานซึ่งก็ควรจะปรับอานให้สูง เพื่อเวลาถีบจะได้ไม่ต้องงอเข่ามาก

     คุณลุงคุณป้าเวลาไปเที่ยวสวนสาธารณะ จะไปเต้นแอโรบิกหรือรำมวยจีนก็ไม่ผิดกติกา เพียงแต่เราอย่าไปย่อเข่ามาก มากตามเขาและอย่าไปแข่งขันกับใครนะครับ ออกกำลังกายพอเหนื่อยของเรา ถ้าทำเป็นประจำสุขภาพก็จะแข็งแรงครับผม
โรคข้อเข่าเสื่อมนี่วันดีคืนดี (ที่จริงต้องเป็นวันร้ายคืนร้าย) อาจมีการปวดเข่ามากขึ้น

     คุณลุงคุณป้าควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่นอน เพราะอาจเป็นการอักเสบในข้อเข่าหรือจากเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ หัวเข่า ซึ่งการรักษาจะมีรายละเอียดที่ต่างกันครับ ทีนี้บางท่านหัวเข่าเสื่อมถึงขีดสุด (ถนอมไม่ไหวแล้ว) คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า ก็ลองคุยกันดูนะครับ บางทีอาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

     แต่ถ้าหากท่านปฏิบัติตามกฎการถนอมข้อเข่าที่ผมแนะนำ ข้อเข่าเพื่อนยากของท่านก็จะอยู่พาท่านไปเที่ยวไหนต่อไหนได้อีกนานเลยล่ะครับ

 

โดย นพ. วิภู กำเหนิดดี  
กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า  

 

อ่านย้อนหลัง  |  close